วิทยุนปช. ยูเอสเอ

12 มีนาคม 2558 รำลึกถึงพี่วู๊ดไซด์ นิวยอร์ค แห่ง นปช.ยูเอสเอ ครบรอบร้อยวัน การมรณภาพของท่าน
::: วิทยุ นปช.ยูเอสเอ ::: :::::: วิทยุมหาวิทยาลัยประชาชน :::

Monday, November 28, 2016

เอียวศรีวงศ์ : ประชาธิปไตยแบบไทย

เอียวศรีวงศ์ : ประชาธิปไตยแบบไทย
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 07:01:24 น.

ในที่สุดก็ถึงเวลาต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คณะกรรมาธิการร่างก็ตั้งกันมาสำเร็จสมบูรณ์แล้ว ในขณะเดียวกันก็มีเสียงหนาหูจากกรรมาธิการบางคนว่า จะต้องกำหนดโน่นนี่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล้วนฟังดูน่าอัศจรรย์พันลึกว่า หากคิดอย่างนี้ จะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

ท่านหัวหน้า คสช. แม้ไม่ได้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ก็มีอำนาจที่จะกำหนดรูปร่างหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มาก ได้ปรารภกรอบของรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ในคำปราศรัยเรื่องสิทธิเสรีภาพว่า "ประชาธิปไตยไทยนั้น ถ้าสอนให้คนรู้จักแต่สิทธิเสรีภาพ ไม่คำนึงถึงหน้าที่ ไม่รู้จักว่าผลประโยชน์แห่งชาติว่าอยู่ที่ไหน ก็ยังคงเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป... อย่าสอนให้เสรีมากนัก คำว่าเสรีต้องมีขีดจำกัด อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ต้องรู้จักหน้าที่..."

ตรงกับที่ประธานคณะกรรมาธิการเคยให้สัมภาษณ์ว่า ทำไมต้องไปลอกเลียนประชาธิปไตยของคนอื่น เราก็ควรมีประชาธิปไตยแบบไทยของเราเอง

หน้าของประชาธิปไตยแบบไทยเริ่มโผล่มาให้เห็นได้รางๆแล้ว

ทั้ง"ประชาธิปไตยแบบไทย" และ "สิทธิเสรีภาพกับหน้าที่" เป็นคาถาที่นักปราชญ์ไทยพูดกันมานานแล้ว ผมคิดว่าท่านเหล่านั้นออกจะสับสนกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่สับสนกับ "ประชาธิปไตย" อยู่มากทีเดียว

ก็จริงที่ว่าในความคิดของนักประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งนักร่างรัฐธรรมนูญไทยรังเกียจนั้น เขาคิดแต่ด้านเสรีภาพและขีดจำกัดของเสรีภาพ บุคคลพึงมีเสรีภาพอย่างไม่มีขีดจำกัดก็จริง แต่เสรีภาพของบุคคลนั้นอยู่ลอยๆ ไม่ได้ (มิฉะนั้นก็กลายเป็นเสรีภาพของซ่องโจร) ต้องตั้งอยู่บนเสรีภาพของสังคมซึ่งประกันเสรีภาพของบุคคลอีกทีหนึ่ง ดังนั้น การใช้เสรีภาพจึงมีขีดจำกัดที่การใช้จะไปละเมิดเสรีภาพของคนอื่นไม่ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสรีภาพของสังคมเป็นบรรทัดฐานที่เราต้องรักษาไว้ เพราะเสรีภาพของเราเองจะมีไม่ได้ หากเสรีภาพของสังคมถูกทำลายลงไป บุคคลจึงพึงเดือดร้อนเมื่อบุคคลอื่นถูกละเมิดเสรีภาพ เพราะย่อมกระเทือนต่อเสรีภาพของสังคม อันจะทำให้เสรีภาพของเราเองถูกคุกคามไปด้วย

คิดแต่ด้านเสรีภาพโดยไม่ต้องคิดด้านหน้าที่เลยก็ได้ เพราะในตัวของเสรีภาพล้วนๆ นี้ มีขีดจำกัดของเสรีภาพอยู่ด้วยแล้ว นั่นคือเสรีภาพของสังคม ซึ่งต้องผดุงรักษาไว้เหนืออื่นใด

หน้าที่ก็มีความสำคัญเหมือนกัน แต่กำหนดลงไว้ในกฎหมายได้ยาก เพราะฝรั่งคิดว่าหน้าที่นั้นเป็นสำนึก หากแปลภาษาไทยให้ตรง หน้าที่คือธรรมะ เช่น พลเมืองต้องเสียภาษีรายได้ แต่จะเสียเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ เป็นสำนึก ถึงกฎหมายกำหนดไว้อย่างไรก็มีช่องให้หลีกเลี่ยงจนได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจึงไม่ต้องพูดถึงหน้าที่ พูดแต่เรื่องของสิทธิเสรีภาพ

ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะหากเอาหน้าที่มาถ่วงดุลเสรีภาพแล้ว เสรีภาพก็ไร้ความหมาย เพราะรัฐอาจมอบหมายหน้าที่ซึ่งทำลายเสรีภาพของสังคมให้แก่พลเมืองทุกคนต้องปฏิบัติ เช่น แจ้งความเคลื่อนไหวของปฏิปักษ์ทางการเมืองของผู้บริหารรัฐ ความสับสนเรื่องนี้ของนักปราชญ์ไทยจะเกิดโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่หากอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจริง ต้องไม่สับสนตาม "ผู้ใหญ่" ไทย

จะพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยก็ได้เพราะมันน่าจะมีอยู่จริง เช่นเดียวกับประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส, แบบอังกฤษ, แบบอเมริกัน หรือแบบเยอรมนี ซึ่งไม่เหมือนกันเลย มีลักษณะเฉพาะที่เหมาะกับสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ (ตามสำนวนของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว) หรือเป็นไปตามประสบการณ์ของแต่ละสังคมซึ่งไม่เหมือนกัน ไม่มีใครคิดจะก๊อบปี้กระบวนการประชาธิปไตยของกันและกัน

แต่ต้องแยกให้ชัดระหว่างบรรทัดฐานหรือเป้าหมายของประชาธิปไตยกับกระบวนการประชาธิปไตยกระบวนการอาจปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ได้ให้เหมาะกับประสบการณ์ของแต่ละสังคมแต่บรรทัดฐานหรือเป้าหมายของประชาธิปไตยนั้นตรงกัน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการก็มีขีดจำกัด คือจะปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ตาม แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบรรทัดฐาน หรือทำให้บรรทัดฐานนั้นเป็นหมันไปโดยปริยาย

ผมจึงอยากพูดถึงบรรทัดฐานของประชาธิปไตยว่า อาจบรรลุได้ด้วยกระบวนการอย่างไรเป็นตัวอย่าง และกระบวนการชนิดไหนในแต่ละด้านที่ทำลายบรรทัดฐานไปโดยปริยาย



ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบปกครองของรัฐสมัยใหม่โดยแท้โดยเฉพาะรัฐที่ได้กลายเป็นรัฐประชาชาติไปแล้วรัฐสมัยใหม่เป็นรัฐที่มีอำนาจล้นพ้น อาจทำร้ายประชาชนหรือพลเมืองของตนได้อย่างที่รัฐก่อนสมัยใหม่ทั้งปวงไม่สามารถทำได้ รัฐจึงเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง ต้องถูกจำกัดอำนาจของมันไว้ ที่ผมพูดนี้หมายถึงรัฐนะครับ ไม่ได้หมายถึงผู้ปกครองรัฐซึ่งย่อมเวียนหน้ากันเข้ามาอยู่เสมอ

กระบวนการที่ใช้ในการควบคุมรัฐในระบอบประชาธิปไตยคือสถาปนาสิทธิเสรีภาพของพลเมืองให้เป็นสิ่งสูงสุด ที่รัฐไม่ว่าจะปกครองโดยใครล่วงละเมิดไม่ได้ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก, ในความเชื่อ, ในการรวมตัวเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคมหรือวัฒนธรรม และในเรื่องอื่นๆ (อย่าลืมเรื่องเสรีภาพของสังคมซึ่งเป็นขีดจำกัดของเสรีภาพนะครับ) 

ในเมืองไทย เรามักคิดว่าสิทธิเสรีภาพเป็นธรรมชาติมนุษย์ ขวางกั้นไม่ได้ หรือขวางกั้นแล้วย่อมทำให้คนไม่พอใจ ข้อนี้จริงหรือไม่คงเถียงกันได้ แต่ที่สำคัญกว่าในระบอบประชาธิปไตยก็คือ สิทธิเสรีภาพเป็นตัวจำกัดอำนาจของรัฐที่เมื่อไรถูกล่วงละเมิด เมื่อนั้นเราทุกคนต่างก็ปลดเปลื้องตัวเองจากแนวป้องกันอำนาจรัฐที่แข็งแกร่งที่สุด กรณีเช่น ตากใบหรือกรือเซะ ทำให้เราทุกคนแม้อยู่ห่างไกลจากเหตุการณ์เพียงไรก็ตาม ต่างตกอยู่ในภยันตรายใหญ่หลวงจากรัฐเท่าๆ กัน

หากถามว่า มีข้อยกเว้นหรือไม่ที่บางครั้งรัฐจำเป็นต้องละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองซึ่งสถาปนาขึ้นไว้แล้วนี้ คำตอบคือไม่มี หรือเกือบจะไม่มีเลย ถึงอาจเกิดขึ้นในรัฐประชาธิปไตยบางแห่งก็ต้องจำกัดอำนาจรัฐในการละเมิดไว้อย่างรัดกุม เช่น ระยะเวลาที่จะละเมิดได้มีจำกัด, กระบวนการละเมิดต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลจากหลายฝ่าย ฯลฯ 

ผมขอยกตัวอย่าง เช่น กฎอัยการศึก ในประชาธิปไตยของบางประเทศ ไม่มีกฎหมายประเภทนี้เลย ในบางประเทศ การตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับองค์กรทางการเมืองที่หลากหลายมาก เช่น รวมแม้แต่พรรคฝ่ายค้านด้วย ในทุกประเทศ หากจำเป็นต้องใช้กฎหมายประเภทนี้ อำนาจรัฐที่จะล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจะถูกกำหนดไว้แน่นอนชัดเจนว่า ทำได้เฉพาะในเรื่องใดและในกรณีจำเป็นอย่างไร ไม่ใช่การชูสามนิ้ว, การกินแซนด์วิช, การอ่านหนังสือ ฯลฯ จะถูกลงโทษไปหมด โดยไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนมากไปกว่ากฎอัยการศึก

ก็อย่างที่กล่าวแล้วนะครับว่า นี่เป็นเรื่องกระบวนการ ซึ่งแต่ละสังคมอาจปรับเปลี่ยนไปได้บ้าง แต่ต้องไม่ทำให้บรรทัดฐานสิทธิเสรีภาพของพลเมืองซึ่งประชาธิปไตยต้องยืนหยัดเพื่อป้องกันรัฐกลายเป็นหมัน

ระบอบประชาธิปไตยต้องแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยของปวงชนออกจากกันเป็นสามด้านคือนิติบัญญัติ, บริหาร และตุลาการ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง แต่ทั้งสามด้านนี้ต้องยึดโยงกับพลเมือง กระบวนการที่จะแบ่งแยกอำนาจนั้นมีได้หลายอย่าง เช่น บางประเทศกำหนดให้การแต่งตั้งผู้พิพากษาต้องได้รับคำรับรองจากรัฐสภา บางประเทศ (เช่น บางมลรัฐของสหรัฐ) ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยกำหนดวุฒิของผู้สมัคร บางสังคมประชาธิปไตยสร้างกลไกที่ทำให้คนภายนอกที่ได้รับมอบหมายจากพลเมือง ให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของฝ่ายตุลาการได้ บางประเทศให้อำนาจพลเมืองในการถอดถอน ส.ส.ระหว่างวาระได้ จะยึดโยงกับพลเมืองอย่างไร เป็นกระบวนการซึ่งอาจปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องไม่ใช่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิปิดประตูเลือกกันเอง หรือปล่อยให้ฝ่ายบริหารแต่งตั้งสภานิติบัญญัติและองค์คณะผู้ตรวจสอบฝ่ายตุลาการเอง

แท้จริงแล้ว การยึดโยงกับพลเมืองของอำนาจอธิปไตยทั้งสามนั้น ประกันการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยที่ขาดไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะเป็นไปไม่ได้ในรัฐสมัยใหม่ที่พลเมืองจำนวนเป็นล้านจะซูเอี๋ยกันเอง ในขณะที่อำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนซึ่งมีคนจำนวนน้อยเสียอีก ที่ซูเอี๋ยกันเองจนอำนาจอธิปไตยทั้งสามด้านไม่แยกออกจากกันจริง อย่างที่เราเห็นในเมืองไทยในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เรื่องนี้เกี่ยวกับบรรทัดฐานประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่งนั่นคืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พลเมืองมีอำนาจสูงสุดในรัฐ ข้อนี้ต้องเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญเฉยๆ แต่มาตราอื่นๆ ล้วนสะท้อนว่าไม่จริง



กระบวนการของบรรทัดฐานนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้พลเมืองควบคุมการใช้อำนาจอธิปไตยของตนได้จริง รัฐสมัยใหม่ซึ่งมีพลเมืองจำนวนมากเลือกใช้การเลือกตั้งทางตรง โดยเฉพาะกับสภานิติบัญญัติ เพราะไม่สามารถประชุมพลเมืองพร้อมกันทั้งประเทศได้ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการทำได้หลายวิธี แต่ต้องไม่ทำให้เจตน์จำนงทางการเมืองของพลเมืองไร้ความหมาย การเลือกตัวแทนเป็นมาตรการที่มีปัญหาแน่ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่ในทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม สามารถปรับได้แก้ได้ และเขาก็ปรับแก้กันทั้งโลกอยู่ในเวลานี้ รวมทั้งยังอาจต้องถูกปรับเปลี่ยนไปอีกมากเมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลขยายตัวและพัฒนาไปมากขึ้นกว่านี้ จนกระทั่งการลงประชามติอาจทำได้ในราคาถูกและสะดวก บทบาทของตัวแทนในสภาอาจลดความสำคัญลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการอื่นๆ ที่สังคมประชาธิปไตยมักใช้เพื่อถ่วงดุล "ตัวแทน" ซึ่งไม่สมบูรณ์เวลานี้ เช่น ประกันอำนาจของท้องถิ่นในบางเรื่องเพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไม่ได้หมายถึง อบต., เทศบาล, อบจ.เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมสภาของท้องถิ่นและองค์กรเอกชนในท้องถิ่นไว้ด้วย) สามารถตัดสินใจได้เองอย่างเป็นอิสระ การประกันสิทธิเสรีภาพของสื่อ, การสื่อสาร, การจัดองค์กร, การเคลื่อนไหวสาธารณะทุกชนิด, การเข้าถึงองค์กรของรัฐอย่างเท่าเทียม ฯลฯ อันเป็นสิทธิพลเมือง ก็มีส่วนในการทำให้ระบบ "ตัวแทน" มีอำนาจน้อยลง

แน่นอนว่าเสรีภาพของสังคมย่อมมีความสำคัญกว่า จึงต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้เสรีภาพเหล่านี้ด้วย แต่กฎหมายประเภทนี้ต้องออกมาเพื่อปกป้องเสรีภาพของสังคม ไม่ใช่ออกมาเพื่อเพิ่มอำนาจรัฐหรืออำนาจข้าราชการ เช่น เสรีภาพในการสื่อสารย่อมกลายเป็นความไม่มีเสรีภาพ หากยังใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน กฎหมายหมิ่นประมาทและกระบวนการยุติธรรมทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยเกือบจะเป็นไปไม่ได้เอาเลย

บรรทัดฐานประชาธิปไตยไม่ได้ทำให้เราไม่สามารถปรับแก้กระบวนการได้ตัวของมันเองได้ปรับแก้ตนเองมาโดยตลอดภายใต้บรรทัดฐานเดิมไม่มีความจำเป็นแต่อย่างไรที่จะระงับใช้บรรทัดฐานประชาธิปไตยเพื่อปรับแก้ประชาธิปไตย อันเป็นตรรกะที่ไม่มีแววเลยว่าจะนำเรากลับสู่บรรทัดฐานประชาธิปไตยได้อีก

ผมคงสามารถพูดถึงบรรทัดฐานของประชาธิปไตยซึ่งขาดไม่ได้(หากยังอยากเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยอยู่)กับกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสมของประสบการณ์ของสังคมไทยได้อีกมาก แต่คิดว่าพอแล้วสำหรับการทำความเข้าใจหลักการข้อนี้ ประชาธิปไตยแบบไทยจึงอาจเป็นจริงได้ แต่หากไม่แยกระหว่างบรรทัดฐานและกระบวนการให้ชัดในการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะปรับเปลี่ยนกระบวนการจนสูญเสียบรรทัดฐานประชาธิปไตยไป และในกรณีเช่นนั้น ชื่อที่ตรงกว่าคือเผด็จการแบบไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทย

ปัญหาของรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ตรงนี้มากกว่าบอดสีหรือมีสี เพราะสีย่อมเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่เมื่อระบอบปกครองนั้นยังอยู่ในบรรทัดฐานของประชาธิปไตยเท่านั้น โดยตัวของมันเองไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด 

สิ่งที่น่ารังเกียจกว่าคือการมองไม่เห็นว่าอะไรคือปัญหาของประเทศกันแน่ และการเอาปัญหาผิดๆ เหล่านั้นเป็นตัวตั้งเพื่อปรับแก้รัฐธรรมนูญจนละทิ้งบรรทัดฐานของประชาธิปไตย เพราะแยกไม่ออก (หรือไม่ยอมแยก) ระหว่างสิ่งที่เป็นบรรทัดฐานกับกระบวนการ ดังข้อเสนอพิลึกพิลั่นนานาชนิดที่ได้ยินอยู่เสมอจาก สปช., สนช., ที่ปรึกษา คสช. และ คสช.เองในช่วงนี้

No comments:

Post a Comment