วิทยุนปช. ยูเอสเอ

12 มีนาคม 2558 รำลึกถึงพี่วู๊ดไซด์ นิวยอร์ค แห่ง นปช.ยูเอสเอ ครบรอบร้อยวัน การมรณภาพของท่าน
::: วิทยุ นปช.ยูเอสเอ ::: :::::: วิทยุมหาวิทยาลัยประชาชน :::

Thursday, May 17, 2018

สงสารผีพฤษภาทมิฬ โดย ใบตองแห้ง

สงสารผีพฤษภาทมิฬ
ใบตองแห้ง

วันนี้แล้วสินะ ครบรอบ 26 ปี "พฤษภาทมิฬ" ซึ่งหลายปีให้หลัง จัดงานรำลึกอย่างเงียบเหงา น่าเศร้าใจแทนวีรชน ผู้พลีชีพเรียกร้องนายกฯ จากเลือกตั้ง คัดค้าน "เสียสัตย์ เพื่อชาติ" สืบทอดอำนาจรัฐประหาร

26 ปีผ่านไป ในยุคสืบทอดอำนาจเพื่อแผ่นดิน คนรุ่นนั้นอยู่ไหนกันบ้าง นอกจากจตุพร พรหมพันธุ์ อยู่ในคุก คนเคย ลุกขึ้นสู้ที่สนามหลวง ราชดำเนิน ยังภาคภูมิใจอยู่ไหม กับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ "ม็อบมือถือ" การลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยของคนชั้นกลางในเมือง

ถ้ายังภูมิใจอยู่ ก็ช่วยเล่าให้คนรุ่นหลัง คนอยากเลือกตั้ง อย่างโบว์ ณัฏฐา, จ่านิว, โรม รังสิมันต์ ได้ฟังบ้าง

พฤษภาทมิฬเป็นวีรกรรมที่ต้องยกย่องภาคภูมิ นักศึกษาประชาชน ต่อสู้ทหารด้วยสองมือเปล่า จนบาดเจ็บล้มตายระนาว ไม่ต่างจาก 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์นองเลือดทั้งสองครั้งเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในเชิงโครงสร้าง 14 ตุลาโค่นเผด็จการทหาร แม้ลมขวาจัดพัดกลับเกิด 6 ตุลา 2519 ก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ พฤษภา 35 ก็ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดการกระจายอำนาจ เกิดประชาธิปไตยกินได้ การแข่งขันด้วยนโยบาย ให้ประชาชนได้รักษาฟรี เรียนฟรี

แต่ไฉน คนชั้นกลางในเมืองยุคนี้ กลับยกย่องตัวเองเป็น "ยอดมนุษย์" ภาคภูมิใจกับการเป่านกหวีดปิดเมือง ขัดขวางเลือกตั้ง ไล่รัฐบาลพลเรือนที่ไม่มีน้ำยา ไม่สามารถสั่งทหารใช้กระสุนจริง จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร ก็ไชโยโห่ร้องกลับบ้านใครบ้านมัน หวังว่าจะมีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

แล้วตอนนี้ ขณะที่พรรคสามัคคีธรรมแปลงร่าง กลับมาดูดนักการเมืองอย่างไม่อาย พล.อ.สุจินดา คราประยูร คนจำนวนหนึ่งกลับไปดีใจกับมาเลเซีย มหาเธร์ วัย 92 กลับมาชนะเลือกตั้ง จนหูตาฝ้าฟาง เห็นมหาชวน จำปาดะ เป็นมหาเธร์ไปซะงั้น

จากม็อบมือถือ มาสู่ม็อบคาบนกหวีด คนชั้นกลางในเมืองได้มีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศครั้งสำคัญ คือเปลี่ยนประชาธิปไตยกลับหลัง ให้อำนาจจากเลือกตั้งอยู่ใต้อำนาจจากแต่งตั้ง สถาปนาระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ ภายใต้หน่วยงานความมั่นคง แม้ต่อให้ปีหน้ามีเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 ก็พันธนาการไว้ 5 ปี 20 ปี หรือชั่วกัลปาวสาน

ถึงทนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ ก็แก้ไขไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี อย่างที่ ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวไว้ ฉะนั้น ยอมจำนนเสียเถอะ ใช้ชีวิตชิกๆ คูลๆ ไปดีกว่า เสพโคเคนยังไม่เสี่ยงหมดอนาคตเท่าอยากเลือกตั้ง

ทำไมคนชั้นกลางเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่คนรุ่นพฤษภา ขนาดคนรุ่นตุลาศิลปิน นักเขียน เป่านกหวีดแล้วกลับมาฉลอง200ปี คาร์ล มาร์กซ์ รำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ศรีบูรพา แต่พอพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชวนมากิจกรรมอยากเลือกตั้ง กลับโดนบางคนเยาะเย้ยด้วยซ้ำ

แต่ครั้นจะโดน กทม.ยึดหอศิลป์ กระแสสิทธิเสรีภาพก็มากันตรึม เฮ้ย มาร์กซ์ยังไม่ตาย ทฤษฎีชนชั้นใช้ได้ชั่วกัปชั่วกัลป์

45 ปีหลัง 14 ตุลา 26 ปีหลังพฤษภา 35 คนชั้นกลางในเมืองมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น แม้แต่คนที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าไม่กลายเป็นคนระดับบนคนมั่งมี ก็มีสถานะในระบบราชการ ในสถาบันทางวิชาการ หรือสถาบันทางสังคม (แม้แต่ NGO) ขณะที่การพัฒนาทุนนิยมอย่างก้าวกระโดด ก็ให้วิถีชีวิตสะดวกสบาย ให้ทางเลือกมากมาย

สังคมคนชั้นกลางในเมืองวันนี้ ถ้าเปรียบนิยายวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนอยู่ในโดมที่มองไม่เห็น คือเป็นสังคมที่พึงพอใจว่ามีสิทธิเสรีภาพ มีทางเลือก ไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับระบอบเผด็จการเหมือนยุคก่อน 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 มีความใกล้ชิดกับรัฐทหาร ระบบราชการ พูดคุยกันได้ ยิ่งกว่านักการเมืองจากเลือกตั้ง ส่วนนอกโดมออกไป คือสิทธิเสรีภาพของคนระดับล่าง ของเสื้อต่างสี ช่างหัวมัน ไม่งั้นโดมที่คุ้มครองไว้จะแตกสลาย

เราจึงเห็นคนชั้นกลางยุคนี้ เกลียดทรัมป์ ด่าอิสราเอลยิงชาวปาเลสไตน์ ประณามการเหยียดผิว แบ่งชนชาติ (ยกเว้นโรฮิงยา) สลิ่มไทยในอเมริการักเดโมแครต แต่กลับมาบ้านตัวเอง ไม่อยากเลือกตั้ง สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ กระทั่งดูดปากยี้ห้อยร้อยยี่สิบที่เคยเกลียดชังก็รับได้ เพื่อรักษาสภาพนี้ไว้

26 ปีพฤษภาทมิฬจึงเศร้าใจ แทนวีรชนที่พลีชีพไป เพราะคุณค่าประชาธิปไตยไม่เหลืออยู่ในคนชั้นกลางที่เคยเป็นพลังม็อบมือถือ นอกจากการเมืองแยกเทพมาร ความเกลียดชังเหมือนเมื่อครั้งไชโยโห่ร้องที่ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ แต่งชุดขาวรอเก้อ กระทั่งยอมทิ้งหลักการ หนุนนายกฯ ทหารไม่ต้องลงเลือกตั้ง

จิตวิญญาณวีรชนพฤษภา หากจะมีที่ฝากฝัง ก็อยู่ที่คน รุ่นใหม่ คนอยากเลือกตั้ง แต่จะมีพลังเพียงไร และต้องรอจังหวะโอกาสอีกนานแค่ไหน ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน

สงสารผีพฤษภาทมิฬ : คอลัมน์ ใบตองแห้ง - ข่าวสด

https://www.khaosod.co.th/politics/news_1099009

(หน้า 6)

No comments:

Post a Comment